บทที่ 1
วันสะบาโตที่แท้จริง
พระเจ้าเสด็จไปด้วยกันกับอาดัมและเอวาในขณะที่เขาทั้งสองกำลังชมบ้านใหม่อันเพียบพร้อมและสมบูรณ์ คือสวนเอเดนที่สวยสดงดงามเกินที่จะบรรยายได้ ขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าในเย็นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่หกนับตั้งแต่พระเจ้าทรงเริ่มสร้างโลก ดวงดาวต่างๆ ปรากฏในท้องฟ้าและ “พระเจ้าทรงทอดพระเนตรสิ่งทั้งปวงที่พระองค์สร้างไว้ ทรงเห็นว่าดีนัก” (ปฐมกาล 1:31) “ฟ้าและแผ่นดิน และบริวารทั้งสิ้น ที่มีอยู่ในนั้น พระเจ้าทรงสร้างสำเร็จดังนี้แหละ” (ปฐมกาล 2:1)
ถึงแม้โลกจะสวยงามสักเพียงไร แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะของขวัญอันล้ำค่ากว่านั้นที่พระเจ้าทรงให้กับมนุษย์คู่แรกคือ สิทธิพิเศษที่จะได้เข้าเฝ้าพระองค์เป็นการส่วนตัว ดังนั้นพระเจ้าจึงประทานวันสะบาโตให้เขา ซึ่งเป็นวันที่จะได้รับพรเป็นพิเศษ เป็นวันที่จะเข้าร่วมสามัคคีธรรมเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้สร้าง
ข้อความต่างๆ ในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงวันสะบาโต
วันสะบาโตเป็นศูนย์กลางของการนมัสการพระเจ้า เป็นอนุสรณ์แห่งการทรงสร้างที่บ่งชี้ว่าเหตุใดจึงต้องนมัสการพระองค์ คำตอบนั้นคือเพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและเราเป็นผู้ที่พระองค์ทรงสร้างอย่างที่ เจ เอ็น แอนดริวส์ เคยกล่าวไว้ว่า “ดังนี้แหละวันสะบาโตจึงเป็นพื้นฐานของการนมัสการพระเจ้า เพราะวันสะบาโตสอนถึงการนมัสการพระองค์ไว้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งในที่อื่นไม่อาจสอนอย่างนี้ได้ เหตุผลที่แท้จริงในการนมัสการพระเจ้า (ไม่เฉพาะแต่การนมัสการในวันที่เจ็ด แต่ในการนมัสการทุกครั้ง) คือ พระเจ้าเป็นพระผู้สร้างและเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ เราไม่ควรจะละเลยหรือลืมข้อเท็จจริงนี้เสีย” ด้วยเหตุนี้เองพระเจ้าจึงสถาปนาวันสะบาโตเพื่อมนุษยชาติจะได้ระลึกถึงพระองค์ในฐานะพระผู้สร้าง
1.1 วันสะบาโตเมื่อทรงสร้างโลก
พระเจ้าทรงประทานวันสะบาโตให้แก่มนุษย์นับตั้งแต่โลกยังปราศจากความบาป วันสะบาโตเป็นของขวัญชิ้นพิเศษจากพระเจ้า เพื่อมนุษย์ผู้อาศัยอยู่บนโลกนี้จะได้ซาบซึ้งถึงความจริงสามประการที่พระเจ้าทรงกระทำในการสถาปนาวันสะบาโต
ก. พระเจ้าทรงพักในวันสะบาโต
คำที่ประว่า “ทรงพัก” ในปฐมกาล 2:2 มาจากคำว่า “ชาบัธ” ในภาษาฮีบรูที่แปลว่า “การหยุดจากการทำงานหรือจากกิจธุระต่างๆ” พระเจ้าไม่ได้พักเพราะการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่อย่างใด (อิสยาห์ 40:28) แต่พระองค์ทรงหยุดจากการงานที่ได้ทรงปฏิบัติมาก่อนหน้านั้น พระเจ้าทรงพักเพราะพระองค์ทรงปรารถนาให้มนุษย์พักด้วย พระองค์จึงวางแบบอย่างให้มนุษย์ปฏิบัติตาม (อพยพ 20:11, 31:17)
ถ้าพระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งสำเร็จภายในหกวัน (ปฐมกาล 1:2) แล้วข้อความในพระคัมภีร์ที่เขียนว่าพระเจ้าทรง “เสร็จงาน” ในวันที่เจ็ดนั้นหมายความว่าอย่างไร (ปฐมกาล 2:2) เพราะว่าภายในหกวันพระเจ้าได้ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ฯลฯ สำเร็จ แต่ยังไม่ได้สถาปนาวันสะบาโต พระองค์ทรงสถาปนาวันสะบาโตโดยการพักในวันนั้น วันสะบาโตจึงเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในการทรงสร้าง
ข. พระเจ้าทรงอวยพรวันสะบาโต
พระเจ้าไม่เพียงแต่งตั้งวันสะบาโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังทรงอวยพระพรให้กับวันนี้ด้วย และการที่พระองค์ทรงอวยพรวันสะบาโตนั้นหมายความว่า ตั้งแต่นั้นมาวันสะบาโตเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงโปรดปรานซึ่งจะอำนวยพระพรแก่บรรดาผู้ที่พระองค์ทรงสร้าง
ค. พระเจ้าทรงตั้งวันสะบาโตให้บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์
พระเจ้าทรงตั้งวันที่เจ็ดให้เป็นวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ หมายความว่า พระองค์ทรงแยกวันที่เจ็ดนั้นออกให้เป็นวันพิเศษ เพราะทรงมีแผนการอันสูงส่งที่จะใช้วันนั้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับมนุษย์
พระเจ้าทรงอวยพรวันที่เจ็ดและตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อมนุษยชาติไม่ใช่เพื่อพระองค์เอง เพราะพระองค์ทรงพักจากการงานทั้งสิ้นของพระองค์ในวันนั้น การทรงพักและทรงสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้านี้แหละที่ทำให้วันสะบาโตได้รับพระพรและความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า
1.2 วันสะบาโต ณ ภูเขาซีนาย
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลักจากชนชาติอิสราเอลได้อพยพออกจากประเทศอียิปต์แสดงให้เห็นว่าพวกเขาส่วนมากได้หลงลืมวันสะบาโต การที่เป็นทาสต้องทำงานตรากตรำคงทำให้ยากต่อการรักษาวันสะบาโต หลังจากที่พวกเขาได้รับอิสระไปไม่นานพระเจ้าทรงเตือนชนชาติอิสราเอลถึงหน้าที่ในการรักษาวันสะบาโต ด้วยการประทานมานาให้พวกเขาอย่างอัศจรรย์และโดยการประกาศพระบัญญัติสิบประการ
ก. วันสะบาโตกับการประทานมานา
หนึ่งเดือนก่อนที่พระเจ้าได้ประกาศพระบัญญัติจากภูเขาซีนาย พระองค์ทรงสัญญากับคนอิสราเอลว่าจะป้องกันพวกเขาจากโรคต่างๆ ถ้าเขาได้ “เงี่ยหูฟังพระบัญญัติของพระองค์และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ทุกประการ” (อพยพ 15:26; ปฐมกาล 26:5) หลังจากทรงสัญญาไม่นาน พระองค์ทรงเตือนชาวอิสราเอลถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวันสะบาโต โดยประทานมานาให้พวกเขาอย่างอัศจรรย์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่าพระเจ้าถือว่าการพักในวันที่เจ็ดของคนอิสราเอลสำคัญมากสำหรับพระองค์
ตลอดสี่สิบปีที่คนอิสราเอลอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดาร (ซึ่งรวมวันสะบาโตแล้วทั้งหมดมากกว่าสองพันวันสะบาโต) การอัศจรรย์ในการเลี้ยงประชาชนด้วยมานานี้ได้เตือนพวกเขาถึงแบบแผนของพระเจ้า คือมีหกวันสำหรับทำงานและวันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อน
ข. วันสะบาโตกับพระบัญญัติ
พระเจ้าทรงจัดวางพระบัญญัติข้อบังคับเรื่องวันสะบาโตไว้เป็นศูนย์กลางของพระบัญญัติสิบประการซึ่งมีเขียนไว้ดังนี้ว่า
“จงระลึกถึงวันสะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ จงทำการงานทั้งสิ้นของเจ้าหกวัน แต่วันที่เจ็ดนั้นเป็นวันสะบาโตของพระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นอย่ากระทำการงานใดๆ ไม่ว่าเจ้าเองหรือบุตรชายบุตรหญิงของเจ้า หรือทาสทาสีของเจ้า หรือสัตว์ใช้งานของเจ้า หรือแขกที่อาศัยอยู่ในประตูเมืองของเจ้า เพราะในหกวันพระเจ้าทรงสร้างฟ้าและดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น แต่ในวันที่เจ็ดทรงพัก เพราะฉะนั้นพระเจ้าทรงอวยพระพรวันสะบาโต และทรงจัดวันนั้นไว้เป็นวันบริสุทธิ์” (อพยพ 20:8-11)
ทุกข้อในพระบัญญัติสิบประการสำคัญอย่างยิ่งและไม่ควรละเลยเสียแม้แต่ข้อเดียว (ยากอบ 2:10) ถึงกระนั้นพระเจ้าก็ยังทรงให้พระบัญญัติเรื่องวันสะบาโตพิเศษกว่าข้ออื่นๆ โดยกล่าวว่า ”จงระลึก” ซึ่งเตือนมนุษยชาติว่าเป็นเรื่องอันตรายที่จะลืมความสำคัญของวันสะบาโต
คำขึ้นต้นของพระบัญญัติข้อนี้ที่กล่าวว่า “จงระลึกถึงวันสะบาโตถือเป็นวันบริสุทธิ์” นั้นแสดงให้รู้ว่าวันสะบาโตไม่ได้เริ่มต้นที่ภูเขาซีนาย คำเหล่านี้แสดงว่าวันสะบาโตเริ่มต้นก่อนหน้านั้น และแท้จริงก็เริ่มต้นตอนที่พระเจ้าสร้างโลกอย่างที่พระบัญญัติได้ระบุไว้ พระเจ้าทรงมุ่งหมายให้เรารักษาวันสะบาโตไว้เป็นอนุสรณ์แห่งการทรงสร้าง พระบัญญัติข้อนี้กำหนดเวลาที่จะพักและนมัสการ โดยนำเราให้คิดไตร่ตรองถึงพระเจ้าพร้อมด้วยพระหัตถกิจของพระองค์
การรักษาวันสะบาโตไว้เป็นอนุสรณ์แห่งการทรงสร้างนั้นเป็นเสมือนยาที่จะแก้ “โรคแห่งการไหว้รูปเคารพ” โดยเตือนเราว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างฟ้าและดิน ซึ่งข้อนี้แหละที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับพระเทียมเท็จ ดังนั้นการรักษาวันสะบาโตจึงเป็นหมายสำคัญแห่งความจงรักภักดีต่อพระเจ้าเที่ยงแท้และเป็นการยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าสูงสุด ทรงเป็นพระผู้สร้างและทรงเป็นพระมหากษัตริย์
วันสะบาโตทำหน้าที่เป็นตราประทับแห่งพระบัญญัติของพระเจ้า โดยทั่วไปแล้วตราประทับต่างๆ จะประกอบด้วยคุณสมบัติสามประการ คือ
1) ชื่อของเจ้าของตราประทับ
2) ตำแหน่ง
3) ขอบเขตของอำนาจการปกครอง
การประทับตราหมายความว่าเจ้าของตราเห็นด้วยกับข้อความในเอกสารนั้น ซึ่งเอกสารต่างๆ จะเป็นทางการหรือมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับตราประทับบนเอกสารนั้นๆ ว่าเป็นของผู้ใด มีตำแหน่งหน้าที่อย่างไร
ในจำนวนพระบัญญัติสิบประการ ข้อที่กล่าวถึงวันสะบาโตเป็นข้อเดียวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนของตราประทับ และเป็นข้อเดียวที่บ่งบอกถึงพระเจ้าเที่ยงแท้โดย
1) บอกพระนามของพระองค์ว่าเป็น “พระเจ้า”
2) ตำแหน่งของพระองค์คือพระผู้สร้างและ
3) ขอบเขตการปกครองคือ “ฟ้าและแผ่นดิน” (อพยพ 20:10-11)
ดังนั้นพระบัญญัติข้อที่สี่นี้จึงเป็น “ตราประทับของพระเจ้า” เพราะเป็นข้อเดียวในบรรดาสิบข้อที่แสดงให้รู้ว่ากฎบัญญัติเหล่านี้มีผลบังคับใช้โดยอำนาจของผู้ใด พระเจ้าทรงกำหนดกฎบัญญัติเรื่องวันสะบาโตเป็นหนึ่งในพระบัญญัติสิบประการ เพื่อเป็นเครื่องยันถึงอำนาจของพระบัญญัติเหล่านั้น
แท้จริงแล้วพระเจ้าให้วันสะบาโตเป็นเครื่องหมายเตือนให้ระลึกถึงอำนาจของพระองค์ในโลกที่เคยปราศจากร่องรอยแห่งความบาปหรือการกบฏ การรักษาวันสะบาโตเป็นหน้าที่อันถาวรของทุกๆ คน ซึ่งจะเห็นจากคำตักเตือนที่ว่า “จงระลึกถึงวันสะบาโตถือเป็นวันบริสุทธิ์” (อพยพ 20:8)
พระบัญญัติข้อนี้ได้แบ่งสัปดาห์ออกเป็นสองส่วน พระเจ้าให้เวลามนุษย์ “ทำการงานทั้งสิ้น” ของเขาหกวันในหนึ่งสัปดาห์ แต่วันที่เจ็ดนั้น “อย่ากระทำการงานใดๆ” (อพยพ 20:9-10) พระบัญญัติกำหนดหกวันในหนึ่งสัปดาห์เป็นวัน “ทำงาน” แต่ “วันที่เจ็ด” เป็น “วันพัก” การที่พระเจ้าทรงให้พักผ่อนในวันที่เจ็ดเป็นการจำเพาะเจาะจงนั้นจะเห็นได้ชัดจากคำขึ้นต้นในต้นฉบับภาษาฮีบรู ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Remember the Sabbath day to keep it holy” คำว่า “the” เป็นคำเจาะจงให้รู้แน่ชัดว่าไม่มีวันสะบาโตหลายวันในสัปดาห์
ถึงแม้ร่างกายของมนุษย์ต้องการพักผ่อนเป็นระยะๆ แต่นั่นมิใช่เหตุผลหลักที่พระเจ้าทรงให้เรารักษาวันสะบาโต แต่เพื่อให้เราทำตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงวางไว้ เนื่องจากว่าพระองค์ทรงพักจากการงานของพระองค์ในสัปดาห์แรกของโลกซึ่งเราควรปฏิบัติตาม
ค. วันสะบาโตกับพันธสัญญา
พระบัญญัติของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของพันธสัญญา วันสะบาโตซึ่งอยู่ในกลางของพระบัญญัติก็ปรากฏเด่นชัดในพันธสัญญาเช่นกัน พระเจ้าตรัสถึงวันสะบาโตว่า “เป็นหมายสำคัญระหว่างเราและเขาทั้งหลาย เพื่อเขาจะทราบว่าเราคือพระเจ้า เป็นผู้กระทำให้เขาบริสุทธิ์” (เอเสเคียล 20:12, 20; อพยพ 31:17)
ดังนั้นพระเจ้าตรัสถึงการรักษาวันสะบาโตว่า “เป็นพันธสัญญาเนืองนิตย์” (อพยพ 31:16) ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่วางไว้บนพื้นฐานความรักของพระเจ้าที่มีต่อพลไพร่ของพระองค์ ดังนั้นวันสะบาโตจึงเป็นสัญลักษณ์ถึงความรักของพระเจ้า
ง. สะบาโตประจำปี
นอกจากวันสะบาโตประจำสัปดาห์แล้ว (เลวีนิติ 23:3) พระคัมภีร์ยังพูดถึงวันสะบาโตตามพิธีต่างๆ ประจำปีรวมอยู่อีกเจ็ดวัน วันสะบาโตประจำปีเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวันสะบาโตประจำสัปดาห์ และวันสะบาโตเหล่านี้อยู่ “นอกเหนือวันสะบาโตแห่งพระเจ้า” (เลวีนิติ 23:38) มีดังนี้
1-2) วันแรกและวันสุดท้ายของเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ
3) เทศกาลวันเพ็นเทคอสต์ (คือเทศกาลสัปดาห์เฉลยธรรมบัญญัติ16:10)
4) เทศกาลเป่าแตร
5) วันลบบาป (เลวีนิติ 16)
6-7) วันแรกและวันสุดท้ายของเทศกาลอยู่เพิง (เลวีนิติ 23:7, 8, 21, 24, 25, 28, 35, 36)
เนื่องจากวันสะบาโตประจำปีเหล่านี้ขึ้นกับปฏิทินที่คนอิสราเอลใช้ในการคำนวณวันกำหนดพิธีต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้างขึ้นข้างแรมอีกที ดังนั้นวันสะบาโตประจำปีอาจจะตรงกับวันไหนก็ได้ ถ้าวันสะบาโตประจำปีอาจจะตรงกับวันสะบาโตประจำสัปดาห์จะเรียกกันว่า ‘วันสะบาโตใหญ่’ (ยอห์น 19:31)
วันสะบาโตประจำสัปดาห์ได้รับการสถาปนาไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่พระเจ้าทรงสร้างโลกและเป็นของมนุษยชาติ แต่วันสะบาโตประจำปีเริ่มต้นพร้อมๆ กับพิธีกรรมต่างๆ ของชาวยิวที่ภูเขาซีนาย ซึ่งพิธีเหล่านี้เล็งถึงพระผู้ช่วยให้รอด และเมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน การรักษาพิธีกรรมเหล่านั้นรวมถึงการรักษาวันสะบาโตประจำปีจึงสิ้นสุดลง
1.3 วันสะบาโตกับพระคริสต์
พระคัมภีร์สอนให้เรารู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้สร้างเช่นเดียวกับพระบิดา (1 โครินธ์ 8:6; ฮีบรู 1:1-2; ยอห์น 1:3) ดังนั้นพระเยซูจึงเป็นผู้ที่ทรงแยกวันที่เจ็ดออกให้เป็นวันพักพิเศษสำหรับมนุษย์
พระเยซูทรงสอนว่าวันสะบาโตไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการทรงสร้างของพระองค์เท่านั้น แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับการที่ทรงไถ่บาปของมนุษย์ด้วย พระองค์ทรงพระชนม์นิรันดร์ (ยอห์น 8:56; อพยพ 3:14) พระองค์ทรงใส่วันสะบาโตไว้ในพระบัญญัติเพื่อเป็นการกำชับถึงการนัดหมายระหว่างพระผู้สร้างกับมนุษย์ พระเยซูยังสอนอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งที่จะต้องรักษาวันสะบาโตคือ พระองค์ทรงไถ่พลไพร่ของพระองค์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:14-15) ดังนั้นวันสะบาโตจึงเป็นตราประทับสำหรับผู้ที่ยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่
เราจึงเข้าใจได้ง่ายว่าทำไมพระเยซูทรงอ้างว่าพระองค์ “เป็นเจ้าเป็นนายเหนือวันสะบาโต” (มาระโก 2:28) ก็เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่โดยตำแหน่งและอำนาจที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ถ้าพระเยซูเพียงแต่ประสงค์จะยกเลิกวันสะบาโตพระองค์ย่อมทำได้ แต่พระองค์ไม่ได้ยกเลิก ตรงกันข้าม พระองค์ทรงผูกพันวันสะบาโต้ไว้กับมนุษยชาติโดยกล่าวว่า “วันสะบาโตนั้นทรงตั้งไว้เพื่อมนุษย์” (มาระโก 2:27)
ตลอดระยะเวลาที่พระเยซูประกอบพระราชกิจบนโลกนี้พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการรักษาวันสะบาโตอย่างถูกต้อง ดังที่พระธรรมลูกา 4:16เขียนไว้ให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงนมัสการในธรรมศาลาเป็นประจำแสดงว่าพระองค์ทรงสนับสนุนการนมัสการในวันที่เจ็ด
พระเยซูทรงหวงแหนความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ของวันสะบาโตจึงทรงเตือนเหล่าสาวกถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ว่า “จงอธิษฐานขอ เพื่อการที่ท่านต้องหนีนั้น จะไม่ตกในฤดูหนาวหรือในวันสะบาโต” (มัทธิว 24:20) หมายความว่าภายหลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสวรรค์จนถึงบัดนี้ยังต้องรักษาวันสะบาโตอยู่
เมื่อพระเยซูทรงสร้างโลกนี้เสร็จแล้ว พระองค์ทรงพักผ่อนในวันที่เจ็ด ซึ่งการพักนั้นหมายถึงการเสร็จสิ้นภารกิจการทรงสร้าง เมื่อครั้งพระเยซูสำเร็จพระราชกิจของพระองค์ในโลกนี้ที่บนไม้กางเขน พระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” (ยอห์น 19:30) พระคัมภีร์ได้ย้ำว่าวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์นั้นเป็น “วันจัดเตรียมและวันสะบาโตก็เกือบจะถึงแล้ว” (ลูกา 23:54) หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ทรงพักในอุโมงค์ฝังศพซึ่งเป็นสัญลักษณะหมายถึงความสำเร็จในการไถ่มวลมนุษย์ (วันนั้นก็ตรงกับ “วันสะบาโตใหญ่” เพราะเป็นทั้งวันที่เจ็ดของสัปดาห์และเป็นวันแรกของเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ)
1.4 วันสะบาโตกับอัครสาวก
อัครสาวกของพระเยซูได้ให้ความสำคัญกับวันสะบาโตเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นจากการปฏิบัติของพวกเขาตอนที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อย่างเข้าสู่วันสะบาโตพวกเขาได้หยุดการเตรียมฝังพระศพของพระองค์และได้ “หยุดการไว้ตามพระบัญญัติ” โดยวางแผนไว้ว่าจะดำเนินการต่อ “ในวันต้นสัปดาห์” (ลูกา 23:56, 24:1)
อัครสาวกนมัสการพระเจ้าในวันที่เจ็ดของสัปดาห์เช่นเดียวกับพระเยซู เมื่ออาจารย์เปาโลออกไปประกาศ ท่านได้เข้าไปในธรรมศาลาในวันสะบาโตและได้เทศนาเรื่องพระคริสต์ (กิจการ 13:14, 17:12, 18:4) แม้แต่คนต่างชาติยังเชิญให้เปาโลเทศนาพระคำของพระเจ้าในวันสะบาโต (กิจการ13:42, 44) ในเมืองที่ไม่มีธรรมศาลาอาจารย์เปาโลก็ได้ค้นหาสถานที่ที่ผู้คนใช้นมัสการกันในวันสะบาโต (กิจการ 16:13) การที่พระเยซูและอาจารย์เปาโลร่วมนมัสการในวันสะบาโตเป็นประจำนั้น แสดงว่าทั้งสองยอมรับวันที่เจ็ดเป็นวันพิเศษสำหรับการนมัสการพระเจ้า
อัครสาวกท่านนี้ได้รักษาวันสะบาโตประจำสัปดาห์อย่างซื่อสัตย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับทัศนคติของเขาที่มีต่อวันสะบาโตประจำปี ท่านสอไว้อย่างชัดเจนว่าคริสเตียนไม่จำเป็นต้องรักษาวันพักประจำปีเหล่านั้นเพราะวันและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมได้ถูกตรึงไว้กับพระคริสต์แล้ว ท่านบอกว่า “เหตุฉะนั้นอย่าให้ผู้ใดพิพากษาปรักปรำท่านในเรื่องการกิน การดื่ม ในเรื่องเทศกาล วันต้นเดือน หรือวันสะบาโต สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเงาของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลัง แต่กายนั้นเป็นของพระคริสต์” (โคโลสี 2:16-17) ตัวอย่างในข้อนี้แสดงถึงข้อบังคับเกี่ยวกับพิธีต่างๆ จึงสรุปได้ว่า “วันสะบาโต” ที่พูดถึงในข้อนี้เป็นวันสะบาโตประจำปีสำหรับฉลองเทศกาลต่างๆ ไม่ใช่วันสะบาโตประจำสัปดาห์ ซึ่งเทศกาลต่างๆ และบรรดาวันสะบาโตประจำปีของคนยิวนั้นก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ได้รับความสำเร็จในพระเยซูคริสต์
ในทำนองเดียวกัน เปาโลได้คัดค้านการถือรักษาพิธีกรรมต่างๆ ของคนในคริสตจักรที่เมืองกาลาเทียโดยกล่าวว่า “ท่านถือวัน เดือน ฤดู และปี ข้าพเจ้าเกรงว่าการที่ข้าพเจ้าได้ทำเพื่อท่านนั้นจะไร้ประโยชน์” (กาลาเทีย 4:10-11)
ส่วนคำพูดของยอห์นที่ว่า “พระวิญญาณได้ทรงดลใจข้าพเจ้าในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (วิวรณ์ 1:10) มีหลายคนเข้าใจผิดว่าท่านหมายถึงวันอาทิตย์ แต่ในพระคัมภีร์มีเพียงวันเดียวที่ระบุว่าเป็นวันพิเศษของพระเจ้า นั่นคือวันสะบาโต พระเยซูตรัสว่า “วันที่เจ็ดนั้นเป็นสะบาโตของพระเจ้าของเจ้า” (อพยพ 20:10) และต่อมาพระองค์ก็ทรงเรียกวันสะบาโตว่า “วันบริสุทธิ์ของเรา” (อิสยาห์ 58:13) และพระเยซูยังเรียกพระองค์เองว่า “เป็นเจ้าเป็นนายเหนือวันสะบาโต” (มาระโก 2:28) เนื่องจากว่าในพระคัมภีร์มีแต่วันที่เจ็ดเท่านั้นซึ่งเป็นวันสะบาโต เป็นเพียงวันเดียวที่พระเจ้าทรงเรียกว่าเป็นวันของพระองค์ ดังนั้นจึงสมควรที่จะสรุปว่าในวิวรณ์ 1:10 ยอห์นหมายถึงวันสะบาโตเพราะไม่มีข้อไหนในพระคัมภีร์ที่จะสนับสนุนให้เข้าใจว่ายอห์นหมายถึงวันต้นสัปดาห์หรือวันอาทิตย์
ในพระคัมภีร์ไม่มีข้อความใดที่กำหนดให้เราถือรักษาวันอื่นในสัปดาห์นอกจากวันสะบาโตซึ่งเป็นวันที่เจ็ด พระคัมภีร์ไม่ได้เรียกวันอื่นว่าเป็นวันบริสุทธิ์หรือเป็นวันที่จะได้รับพร และในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ก็ไม่มี่ข้อใดที่จะทำให้เราเข้าใจว่าพระเจ้าได้เปลี่ยนวันสะบาโตมาเป็นวันอื่น แต่ตรงกันข้ามพระคัมภีร์สอนให้เรารู้ว่าคนของพระเจ้าจะรักษาวันสะบาโตไปตลอดนิรันดร์ “เพราะสวรรค์ใหม่ และแผ่นดินโลกใหม่ซึ่งเราจะสร้างจะยังอยู่ต่อหน้าเราฉันใด พระเจ้าตรัสดังนี้ เชื้อสายของเจ้าและชื่อของเจ้าจะยังอยู่ฉันนั้น พระเจ้าตรัสว่าทุกวันขึ้นค่ำ และทุกวันสะบาโต มนุษย์ทั้งสิ้นจะมานมัสการต่อเรา” (อิสยาห์66:22-23)