บทที่ 3

ความพยายามต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงวันนมัสการ

            เนื่องจากวันสะบาโตมีบทบาทสำคัญในการนมัสการพระเจ้าในฐานะทรงเป็นพระผู้สร้างและพระผู้ไถ่  จึงไม่น่าแปลกใจที่ซาตานได้ทำสงครามต่อสู้วันสะบาโต

            ไม่มีข้อใดในพระคัมภีร์ที่อนุญาตให้เปลี่ยนวันที่  พระเจ้าทรงกำหนดให้นมัสการพระองค์  ซึ่งทรงตั้งไว้ในสวนเอเดนและทรงประกาศย้ำที่ภูเขาซีนาย  หลายคนที่รักษาวันอาทิตย์แทนวันสะบาโตยอมรับเรื่องนี้  คาร์ดินัล (พระราชาคณะ)  ท่านหนึ่งของคาทอลิก  ซึ่ง  คาร์ดินัล เจมส์ กิบบอนส์ (Cardinal James Gibbons)  เคยเขียนไว้ว่า  “คุณสามารถอ่านพระคัมภีร์จากปฐมกาลถึงวิวรณ์และจะไม่พบแม้แต่บรรทัดเดียวที่สนับสนุนการรักษาวันอาทิตย์ให้บริสุทธิ์ แต่พระคัมภีร์ได้สั่งให้รักษาวันเสาร์เป็นวันพัก”

            คริสเตียนนิกายโปรเตสแตนท์คนหนึ่งชื่อ  เอ.ที ลินคอล์น(A.T. Lincoln)  ยอมรับว่า  “การที่บางคนบอกว่าพระคัมภีร์ใหม่เองสนับสนุนความเชื่อที่ว่า  ตั้งแต่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์แล้วพระเจ้าได้ตั้งวันอาทิตย์เป็นวันสะบาโตนั้นฟังไม่ขึ้นเลย  ตามเหตุผลแล้วเหลือแนวทางปฏิบัติสิบประการไว้เป็นหลักศีลธรรม  คือการรักษาวันสะบาโตในวันที่เจ็ด”

            ในเมื่อไม่มีหลักฐานในพระคัมภีร์ว่าพระเยซูหรืออัครสาวกของพระองค์ได้เปลี่ยนวันนมัสการจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์  แล้วทำไมคริสเตียนส่วนมากจึงยึดถือวันอาทิตย์แทนวันเสาร์

            3.1  ประวัติการเริ่มต้นรักษาวันอาทิตย์

            การเปลี่ยนวันนมัสการจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน  แต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงทีละน้อย  หลังสมัยพระเยซูจนถึงก่อนศตวรรษที่ 2 ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการรักษาวันอาทิตย์ของคริสเตียน  แต่มีหลักฐานว่ากลางศตวรรษที่ 2 มีคริสต์เตียนบางคนนมัสการในวันอาทิตย์ด้วยใจสมัครแต่ยังไม่ได้เป็นวันหยุดพัก

            คริสตจักรที่กรุงโรมซึ่งประกอบด้วยสมาชิกต่างชาติเป็นส่วนมาก  (โรม 11:13)  ได้นำกระแสความนิยมไปสู่การนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์

            ในกรุงโรมซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโรม  คนส่วนมากมีอคติต่อคนยิวอย่างรุนแรง  และนับวันยิ่งเพิ่มทวีขึ้น  คริสเตียนในกรุงโรมในสมัยนั้นจึงพยายามหาวิธีที่จะไม่ถูกนับรวมกับคนยิวโดยเปลี่ยนข้อปฏิบัติบางประการที่ถือเหมือนกับคนยิวเสีย  โดยเฉพาะการที่พวกเขาได้เริ่มโน้มเอียงจากการนับถือวันที่เจ็ด  จนมารักษาเฉพาะวันอาทิตย์แทนในที่สุด

            ตลอดศตวรรษที่ 2-5 ถึงแม้ว่าการนับถือวันอาทิตย์มีอิทธิพลทมากยิ่งขึ้นแต่คริสเตียนเกือบทั่วอาณาจักรยังคงรักษาวันสะบาโตในวันที่เจ็ด นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งซึ่งมีชีวิตในสมัยศตวรรษที่ 5 ชื่อ โสกราตีส  (Socrates)ได้เขียนไว้ว่า  “คริสตจักรเกือบทั่วทุกแห่งหนในโลกฉลองข้อลึกลับของพระเจ้าในวันที่เจ็ดของทุกสัปดาห์  แต่คริสเตียนในเมืองอาเล็กซานเดรีย (Alexandria) และในกรุงโรมได้หยุดทำเช่นนี้เนื่องจากประเพณีเก่าแก่บางอย่างของเขา”

            ในศตวรรษที่ 4 และ 5 มีคริสเตียนจำนวนมาก  นมัสการในสองวันคือทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์  นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งในสมัยนั้นเชื่อว่าโซโซแมน (Sozomen)  เขียนว่า  “พลเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople)  และคนในเกือบทุกที่ไปชุมนุมกันทั้งในวันสะบาโตและในวันที่หนึ่งของสัปดาห์  ซึ่งคนในกรุงโรมและเมืองอาเล็กซานเดรียไม่ถือตามธรรมเนียมนี้เลย”  ข้อความอ้างอิงข้างต้นทั้งสองข้อแสดงให้เห็นว่าโรมเป็นตัวตั้งตัวตีในการมองข้ามการรักษาวันสะบาโต  แต่เหตุใดผู้ที่หันจากการนมัสการในวันที่เจ็ดจึงมาเลือกวันอาทิตย์และไม่ใช่วันอื่นของสัปดาห์  เหตุผลหลักก็คือพระเยซูทรงฟื้นพระชนม์ในวันอาทิตย์  และในสมัยศตวรรษที่ 4-5 ได้มีคนที่แอบอ้างว่า  พระเยซูเห็นด้วยกับการพักและการนมัสการในวันนั้น  ซึ่งถือว่าแปลกมากที่ไม่มีนักเขียนในศตวรรษที่ 2 หรือ 3 อ้างข้อพระคัมภีร์แม้แต่ข้อเดียวเพื่อเป็นหลักฐานในการถือวันอาทิตย์แทนวันสะบาโต  การที่ลัทธิไหว้ดวงอาทิตย์ของชาวโรมันเป็นที่นิยมมากทั้งมีอิทธิพลสูงมีส่วนในการผลักดันให้คนรับวันอาทิตย์เป็นวันนมัสการ ซึ่งในสมัยโบราณนั้นลัทธิการไหว้ดวงอาทิตย์ยังเป็นส่วนประกอบที่เก่าแก่ที่สุดของศาสนาโรมัน  ลัทธินี้ได้มีอิทธิพลต่อคริสตจักรด้วยจนกระทั่งวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 321 จักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine)  ออกกฎหมายวันอาทิตย์เป็นครั้งแรก  ซึ่งในกฎหมายฉบับนั้นได้สั่งให้ปิดร้านค้าและโรงงานในเมือง  แต่อนุญาตให้ชาวชนบททำการเกษตรได้  ต่อมาก็มีกฎหมายวันอาทิตย์หลายฉบับที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นตามลำดับ  จนกระทั่งปี ค.ศ. 538  (ซึ่งเป็นปีแรกของจำนวน 1260 ปี  ตามคำพยากรณ์ในหนังสือดาเนียลและวิวรณ์ที่ทำนายว่าจะมีอำนาจขึ้นมาต่อสู้ความจริงของพระเจ้า)  ผู้นำของโรมันคาทอลิกได้ออกกฎหมายห้ามทำการเกษตรในวันอาทิตย์ด้วย

            3.2  คำพยากรณ์เรื่องการเปลี่ยนวันสำคัญของพระเจ้า

            พระคัมภีร์เปิดเผยให้รู้ว่าวันอาทิตย์เริ่มเข้ามาในคริสตจักรคือ อำนาจลึกลับนอกกฎหมาย  ได้เริ่มทำงานในสมัยของอาจารย์เปาโล  (2 เธสะโลนิกา 2:7)  พระเจ้าได้สำแดงไว้ล่วงหน้าในดาเนียลบทที่ 7  ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงวันนมัสการ

            ดาเนียลเห็นในนิมิตว่าจะมีการเข้าโจมตีพลไพร่และพระบัญญัติของพระเจ้า  โดยในนิมิตนั้นท่านเห็นมีเขาอันหนึ่งบนหัวของสัตว์ร้ายตัวที่สี่  ได้ต่อสู้กับกฎเกณฑ์และคนของพระองค์  ซึ่งเป็นการทำนายถึงการหลงจากความจริงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนา  สัตว์ตัวที่สี่นั้นหมายถึงอาณาจักรโรม  และเขาเล็กที่งอกขึ้นทีหลังนั้นหมายถึงอำนาจที่จะเกิดขึ้นจากโรท ในดาเนียล 7:25 ได้ทำนายไว้ว่าเขาเล็กนั้น  จะคิดเปลี่ยนแปลงบรรดาวาระและธรรมบัญญัติ  เขาเล็กนี้ได้หลอกลวงมนุษย์ทั้งโลกให้หลงไป  แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าในที่สุดมันจะถูกพิพากษาลงโทษ  (ดาเนียล  7:11, 22, 26)  และในเวลาแห่งความยากลำบากครั้งสุดท้ายพระเจ้าจะทรงช่วยกู้คนของพระองค์ (ดาเนียล 12:1-2)

            ตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์มีเพียงอำนาจเดียวเท่านั้นที่มีลักษณะตรงตามคำพยากรณ์นี้ทุกประการนั้นคือศาสนาโรมันคาทอลิก  ซึ่งจะสังเกตได้จากข้อความเล็กน้อยดังนี้

            ในช่วงเวลาประมาณ  ค.ศ. 1400 แพ็ททรัส เด แอนซาราโน(Petrus de Ancharano)  ยืนยันว่า  “สันตะปาปาสามารถเปลี่ยนกฎของพระเจ้าได้ เพราะสิทธิอำนาจของท่านไม่ใช่ของมนุษย์  แต่เป็นของพระเจ้าและท่านทำหน้าที่แทนพระเจ้าบนโลกนี้  โดยมีอำนาจสูงสุดในการผูกมัดและปลดปล่อยลูกแกะของพระเจ้า”  ซึ่งในสมัยปฏิรูปศาสนาครั้งยิ่งใหญ่นั้นลูเธอร์ (Luther) ได้สัมผัสกับความเชื่อของคาทอลิกในเรื่องนี้เมื่อท่านได้โต้วาทีกับ จอห์น เอ็ค (John Eck)

            ลูเธอร์อ้างว่า  ไม่ใช่ประเพณีของคริสตจักรแต่เป็นพระคำอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่เขาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตโดยยึดถือ “พระคัมภีร์และพระคัมภีร์เท่านั้น”  (Sola scriptura)  ไว้เป็นคติพจน์  จอห์น เอ็ค ซึ่งอยู่ระดับแนวหน้าในการปกป้องหลักคำสอนของโรมันคาทอลิกนั้นได้โต้แย้งกับลูเธอร์ในจุดนี้โดยอ้างว่าอำนาจของคริสตจักรนั้นอยู่เหนือพระคัมภีร์  เขาได้ท้าทายลูเธอร์ในเรื่องการรักษาวันอาทิตย์แทนวันสะบาโตในพระคัมภีร์  โดยพูดว่า  ข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวว่า  จงระลึกถึงวันสะบาโตถือเป็นวันบริสุทธิ์  เป็นโมฆะเพราะคริสตจักรได้เปลี่ยนวันสะบาโตโดยอำนาจของคริสตจักรเอง  ซึ่งท่านลูเธอร์ไม่อาจยกข้อพระคัมภีร์มาตอบได้เลย

            ในการประชุมที่เมืองเทรนต์ (Trent ค.ศ. 1545-1563)  เกสเพร์  เด  ฟอสโซ  (Gaspare de Fosso)  ซึ่งเป็นบาทหลวงชั้นหัวหน้าคาทอลิกได้กล่าวว่า  “อำนาจของคริสตจักรอยู่เหนือคำสั่งสอนในพระคัมภีร์  เพราะวันสะบาโตไม่ได้ถูกยกเลิกเนื่องจากคำสั่งของพระเยซูที่ตรัสไว้ว่าพระองค์มาเพื่อจะทำให้พระบัญญัติสำเร็จไม่ใช่มาเพื่อจะทำลายเสีย  แต่วันสะบาโตและกฎข้ออื่นๆ ถูกเปลี่ยนแปลงโดยสิทธิอำนาจของคริสตจักรเอง”

            มีบางคนถามว่า  “แล้วคริสตจักรคาทอลิกยังยึดถือข้อคิดนี้อยู่หรือไม่?”  คำตอบมีอยู่ในคู่มือสอนหลักความเชื่อของคาทอลิก  ฉบับปี  ค.ศ. 1977  ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นลักษณะถามตอบ

            ถาม  วันสะบาโตตรงกับวันไหน?

            ตอบ  วันสะบาโตตรงกับวันที่เจ็ด

            ถาม  แล้วทำไมเราจึงรักษาวันอาทิตย์แทนวันเสาร์

            ตอบ  เรารักษาวันอาทิตย์แทนวันเสาร์เพราะคริสตจักรคาทอลิกได้โอนความศักดิ์สิทธิ์จากวันเสาร์ให้กับวันอาทิตย์

            นักวิชาการท่านหนึ่งของคริสตจักรโรมันคาทอลิกชื่อ  จอห์น เอ โอไบรอัน (John A O’Brien) ได้เขียนหนังสือยอดนิยมเล่มหนึ่งชื่อ  “ความเชื่อของคนนับล้าน”  (The faith of millions)  ซึ่งในหนังสือเล่มนั้นท่านสรุปว่า “คริสตจักรคณะต่างๆ ที่ยึดถือพระคัมภีร์เป็นพื้นฐานของความเชื่อไม่มีเหตุผลที่จะรักษาวันอาทิตย์เพราะไม่มีข้อพระคัมภีร์สนับสนุน  เนื่องจากว่าประเพณีการรักษาวันอาทิตย์นี้มาจากอำนาจของคริสตจักรคาทอลิกโดยตรง”

            3.3  การฟื้นฟูวันสะบาโต

            ในอิสยาห์  บทที่ 56 และ 58 พระเจ้าได้ทรงเรียกให้คนอิสราเอลปฏิรูปการรักษาวันสะบาโตโดยสำแดงว่าการประกาศข่าวประเสริฐจะได้ผลก็ต่อเมื่อคนของพระองค์รักษาวันสะบาโตให้บริสุทธิ์  (อิสยาห์ 56:1-2, 6-8)

            พระเจ้าทรงระบุพันธกิจให้กับคริสตจักร  คือให้เตือนผู้ที่นับถือพระเจ้าเพียงแต่ปาก  (อิสยาห์ 58:1-2)  พระเจ้าตรัสว่า  สิ่งปรักหักพังโบราณของเจ้าจะได้รับการสร้างขึ้นใหม่  เจ้าจะได้ซ่อมเสริมรากฐานของคนหลายชั่วอายุมากขึ้น  เจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ซ่อมกำแพงที่พัง  ผู้ซ่อมแซมถนนให้คืนคงเพื่อจะได้อาศัยอยู่  ถ้าเจ้าหยุดเหยียบย่ำวันสะบาโต  คือจากการทำตามใจของเจ้าในวันบริสุทธิ์ของเรา  และเรียกสะบาโตว่าวันปีติยินดีและเรียกวันบริสุทธิ์ของพระเจ้าว่า  วันมีเกียรติ  ถ้าเจ้าให้เกียรติมันไม่ไปตามทางของเจ้าเอง  หรือทำตามใจของเจ้าหรือพูดแต่เรื่องไร้สาระ  แล้วเจ้าจะได้ความปีติยินดีในพระเจ้า และเราจะให้เจ้าขึ้นขี่อยู่บนที่สูงของแผ่นดินโลก  และเราจะเลี้ยงเจ้าด้วยมรดกของยาโคบ  บิดาของเจ้า  เพราะโอษฐ์ของพระเจ้าได้ตรัสแล้ว  (อิสยาห์ 58:12-14)

            พันธกิจของอิสราเอลฝ่ายจิตวิญญาณ  (คือคริสตจักร)  ก็เหมือนกับพันธกิจของอิสราเอลโบราณคือฟื้นฟูและซ่อมแซมวันสะบาโตที่ถูกทำลายโดยอำนาจของเขาเล็กนั้น  (คริสตจักรคาทอลิก) เราต้องซ่อมแซมกำแพงที่แตกหัก  คือ  ให้พระบัญญัติของพระเจ้าสมบูรณ์  โดยให้วันสะบาโตคืนสู่สภาพเดิม

            นี่แหละเป็นภาระหน้าที่ของเราที่จะต้องเตือนชาวโลกให้เห็นถึงความสำคัญของพระบัญญัติของพระเจ้าและเตรียมตัวสำหรับการพิพากษาของพระองค์  (วิวรณ์  14:6-12)

            คำเตือนครั้งสุดท้ายนั้นคือ  เตือนชาวโลกให้ยังคงรักษาวันสะบาโตก่อนที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาโดยกล่าวว่า  จงนมัสการพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์  แผ่นดินโลก  ทะเล  และบ่อน้ำพุทั้งหลาย  (วิวรณ์ 14:7)

            เมื่อประกาศข่าวนี้ไปแล้วชาวโลกจะตื่นตัวและลุกขึ้นมาขัดขวางคำประกาศนี้  ถึงคราวนั้นทุกคนจะต้องตัดสินใจว่าจะซื่อสัตว์ต่อพระเจ้าโดยเชื่อฟังปฏิบัติตามพระบัญญัติและรักษาวันสะบาโต  หรือว่าจะทำตามสังคมส่วนใหญ่และถือตามประเพณีของมนุษย์ทั่วไปโดยรักษาวันอาทิตย์  ทุกคนจะต้องเลือกว่าจะรักษากฎของพระเจ้าหรือกฎของมนุษย์  คนในโลกจะถูกแยกออกเป็นสองกลุ่ม  กลุ่มหนึ่งจะรักษาพระบัญญัติของพระเจ้าและดำเนินตามความเชื่อของพระเยซูอีกกลุ่มหนึ่งจะรับเครื่องหมายของสัตว์ร้ายในที่สุด  (วิวรณ์ 14:12,9)

            คนของพระเจ้าควรรักษาวันสะบาโตอย่างสม่ำเสมอ  และเป็นแบบอย่างถึงความรักของพระเจ้าเพื่อจะเทิดทูนพระบัญญัติของพระองค์  ทั้งเป็นการให้เกียรติวันสะบาโตที่คนทั่วไปได้ละทิ้งเสีย